«

Dec 12

จิ๋นซีฮ่องเต้ จักรพรรดิจีนพระองค์แรก

first-emperor-china-qin-shi-huang

จิ๋นซีฮ่องเต้ (260-210 ปีก่อนคริสตกาล) แซ่อิ๋ง ชื่อเจิ้ง ขึ้นครองราชย์เมื่อ 246 ปีก่อนคริสตกาล ในระหว่างที่พระองค์ปกครองรัฐฉิน ได้สืบทอดเจตนารมณ์ของ 6 รัชกาลตั้งแต่ ฉินเซี่ยวกงเป็นต้นมา ใช้การปฏิบัติทางการเมืองและการปฏิรูประบอบต่างๆ ทำให้รัฐฉินมั่นคงเข้มแข็งขึ้น อาศัยกลยุทธ์รุกราน ผนวก 6 รัฐเป็นเอกภาพปิดฉากยุคจ้านกว๋อ สถาปนาราชวงศ์ฉินขึ้นเมื่อ 220 ปีก่อนคริสตกาล ออกโจมตีชนเผ่าซงหนูทางเหนือ พิทักษ์ดินแดนของฉิน รุกรานชนเผ่าไป่เยว่ทางใต้ และได้สร้างรัฐศักดินาที่เป็นเอกภาพหลายประชาชาติและรวบอำนาจเข้ามาสู่ส่วนกลางเป็นรัฐแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศจีน ขนานนามพระองค์เองว่า ฉินสื่อหวงตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้)
ฉินหวางเจิ้ง
อิ๋งเจิ้ง เกิดที่รัฐเจ้า เป็นบุตร องค์ชายอี้เหริน แห่งรัฐฉินที่เป็นตัวประกันที่รัฐเจ้า กับ เจ้าจี อดีตนางรำของ หลี่ปู้เหว่ย แต่ ตามบันทึกประวัติศาตร์ที่เขียนโดย ซือหม่า เฉียน ในสมัยราชวงศ์ฮั่น (ราชวงศ์ฮั่นเข้าแทนที่ราชวงศ์ฉิน) กล่าวว่าเป็นบุตร หลี่ปู้เหว่ย กับเจ้าจี และตั้งครรภ์ก่อนที่เจ้าจีมาเป็นชายาของอี้เหริน
เมื่ออี้เหรินกลับรัฐฉิน และต่อมาได้เป็นฉินจวงเซียงหวาง จึงนำอิ๋งเจิ้ง และ เจ้าจีกลับรัฐฉิน สถาปนาอิ๋ง เจิ้งเป็นรัชทายาท ฉินจวงเซียงหวางครองราชย์ได้เพียง 3 ปีก็สิ้นพระชนม์ อิ๋งเจิ้งขึ้นครองราชย์ต่อ เมื่ออายุเพียง 13 ปี โดยหลี่ปู้เหว่ยเป็นอัครเสนาบดี และผู้สำเร็จราชการ
หลี่ปู้เหว่ยกุมอำนาจสูงสุดในรัฐฉิน และมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับไทเฮาเจ้าจี หลี่ปู้เหว่ยกลัวเรื่องราวจะใหญ่โตจึงหยุดความสัมพันธ์ กับเจ้าจี แต่ได้แนะนำเล่าไอ่ มาแทนตน โดยให้ปลอมมาเป็นขันที ในตำหนักเจ้าจี ทำให้เล่าไอ่ เริ่มกุมอำนาจผ่านทางเจ้าจี และ มีบุตรลับๆ กับเจ้าจี 2 คน เมื่อฉินหวางเจิ้งเจริญวัยขึ้น และเริ่มรับรู้ความสัมพันธ์ ระหว่าง หลี่ปู้เหว่ย เจ้าจี เล่าไอ่ จึงเริ่มคิดแผนการกำจัด หลี่ปู้เหว่ย และ เล่าไอ่
ช่วงปี 238 ก่อนคริสตกาล ฉินหวางเจิ้งเดินทางออกจาก นครหลวงเสี่ยนหยาง เล่าไอ่จึงก่อการกบฏ ฉินหวางเจิ้ง เรียกระดมพลและปรามปรามกบฏเล่าไอ่ลงได้ เล่าไอ่และพรรคพวกถูกประหารชิวิต ไทเฮาเจ้าจีถูกส่งตัวไปกักบริเวณในตำหนักที่ ยงตู เมืองหลวงเก่า บุตร 2 คนของไทเฮาเจ้าจี และ เล่าไอ่ ถูกประหารชีวิต ส่วนหลี้ปู้เหว่ยถูกปลดจากอัครเสนาดี และโดนย้ายไปอยู่ลั่วหยางเมืองศักดินาของตน และต่อมาโดนฉินหวางเจิ้งเนรเทศไปชายแดนเสฉวน และบีบคั้นจนต้องดื่มสุราพิษฆ่าตัวตาย

 

รวมแผ่นดินเป็นหนึ่ง
หลังจากปราบกบฏเล่าไอ่ และ หลี่ปู้เหว่ยสิ้นชีพแล้ว ฉินหวางเจิ้งก็รวบอำนาจ และบริหารราชการด้วยพระองค์เอง วางแผ่นปราบนครรัฐทั้ง 6 รวมแผ่นดินเป็นหนึ่ง โดยรวบรวมเหล่าบัณทิต และขุนศึกมาช่วยงานมากมาย เช่น หลี่ซือ เว่ยเหลียว หานเฟ่ย และ หวางเจี่ยน
กลยุทธ์ที่ หลี่ซื่อ และ เว่ยเหลียว แนะนำคือ คบไกลตีใกล้ โดยใช้นโยบายทางทหาร และการเมือง กลืนกินทีละรัฐที่อยู่ติดกับรัฐฉินก่อน แล้วจึงโจมตีรัฐห่างไกล โดยใช้ทั้งเงินติดสินบนขุนนางใน 6 รัฐ และส่งไส้ศึก เข้าไปใน 6 รัฐ ก่อการบ่อนทำลายจากภายในจนบอบช้ำ และ ส่งกองทัพไปปราบ จนสามารถรวบรวมรัฐทั้ง 6 ได้สำเร็จในปี 221 ก่อนคริสตกาล

Warring State

แผนที่ยุคจ้านกว๋อ (เริ่มประมาณ ปี 453 BC ถึง ปี 221 BC) คลิกที่ภาพดูการเปลี่ยนแปลง

 

ปฏิรูปการเมืองการปกครอง
เมื่อรวบรวม 6 รัฐได้แล้ว ฉินหวางเจิ้ง จึงสถาปนาตนเป็น ฉินสื่อหวงตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้) (หวาง=King, หวงตี้=Emperor) แห่งราชวงศ์ฉิน ในปี 221 ก่อนคริสตกาล และยกเลิกระบอบนครรัฐศักดินาที่มีเจ้านครรัฐปกครอง มาเป็นรวมศูนย์อำนาจสู่ศูนย์กลาง โดยส่วนกลางมี ระบบ 3 ขุนนาง 9 เสนาบดี ส่วนภูมิภาคแบ่งเป็น จังหวัด และ อำเภอ เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์รวมอำนาจที่ส่วนกลาง
มีการวางมาตรฐาน ชั่ง ตวง วัด เงินตรา และ ตัวอักษร ให้เป็นแบบเดียวกันทั่วทั้งอาณาจักร บังคับใช้กฎหมายรัฐฉิน ที่เข้มงวด มีการโยกย้ายผู้ดีเก่าจาก 6 รัฐ ให้มาอยู่รวมกันที่นครหลวงเสียนหยาง มีการปราบปรามชนเผ่าซงหนูทางเหนือ และขยายดินแดนลงไปทางใต้
เผาตำรา ฝั่งบัณฑิต
เพื่อความเป็นเอกภาพทางความคิดในราชอาณาจักร จิ๋นซีฮ่องเต้ ออกคำสั่งตามคำแนะนำของหลี่ซือให้เผาตำราต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์รัฐทั้ง 6 คำภีร์สำนักความคิดต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับราชสำนักโดยเฉพาะสำนักขงจื้อ คงเหลือแต่ตำราของรัฐฉิน ตำรายา โหราศาสตร์ การเกษตร และ กฎหมายรัฐฉิน
นักปราชญ์สำนักขงจื้อซึ่งมีความคิดเห็นต่างจาก จิ๋นซีฮ่องเต้ ไม่ว่าเรื่องการปกครอง เรื่องปรัญชาต่างๆ และมีการวิพากวิจารณ์พระองค์ จนทำให้พระองค์โกรธ และสั่งสอบสวน และจับนักปราญช์สำนักขงจื้อ และนักพรตลัทธิเต๋า ที่โดนซัดทอนกัน กว่า 400 คนมาลงอาญา “ฝั่งทั้งเป็น”
การกระทำดังกล่าวทั้งการเผาตำรา และฝั่งบัณฑิต แม้ทำให้บ้านเมืองสงบ แต่เป็นวิธีการที่ โหดร้าย ไม่ฉลาด ทำให้ความรู้ปรัญชา วิชาการด้านต่างๆของจีนที่สั่งสมมาในยุคจ้านกว๋อสูญหายไปมากมาย และพระองค์ยังถูกตราหน้าจากชนรุ่นหลังว่าเป็นจักรพรรดิที่โหดเหี้ยมทารุณ
กำแพงยักษ์หมื่นลี้ สุสานใต้ดิน และ พระราชวังอาฝางกง
เมื่อปราบปรามชนเผ่าซงหนูแล้ว จิ๋นซีฮ่องเต้จึงมีบัญชาให้สร้างกำแพงยักษ์ เพื่อป้องกันซงหนูขึ้นทางชายแดนภาคเหนือโดยใช้แนวกำแพงเก่าทางภาคเหนือของแต่ละรัฐมาเชื่อมต่อเป็นแนวกำแพงเดียวกัน จากมณฑลกานซูในปัจจุบันไปถึงเหลียวตงทางตะวันออก แต่การสร้างกำแพงยักษ์นี้ ต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อหยาดเหงื่อแรงงานของประชาชนนับแสน มีการเกณท์แรงงาน และเก็บภาษีจากประชาชนมากมาย และที่อดอยากและล้มตายก็มากมายภายใต้กำแพงยักษ์ โดยปัจจุบันนับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก

Great-Wall-Qin-Dynasty

จิ๋นซีฮ่องเต้ยังมีบัญชาให้เกณฑ์แรงงาน สร้างสุสานของพระองค์ที่มีกองทัพทหารหุ่นดินเผาติดอาวุธเพื่ออารักขาพระองค์หลังความตาย กล่าวกันว่าสุสานของพระองค์นั้นจำลองอาณาจักรฉินของพระองค์ด้วย โดยมีพระราชวัง ภูเขา และแม่น้ำจำลองอยู่ภายใน แต่เนื่องจากทางการจีนยังสำรวจไม่ครบ โดยเกรงว่าเมื่อขุดต่อไป เทคโนโลยีในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาสภาพ วัตถุ สิ่งของในสุสานได้

qinshihaungdi_tomb1

qinshihuang-mausoleum3

qinshihaungdi_tomb2

สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้

จิ๋นซีฮ่องเต้ยังคงเกณฑ์แรงงานไม่หยุดหย่อน ทรงสร้างพระวังที่ยิ่งใหญ่ วิจิตรตระการตา ชื่อ อาฝางกง ที่มีขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ และ ยังคงสร้างต่อมาในสมัยฉินรัชกาลที่ 2 และมาถูกเผาทำลายโดยเซี่ยงอวี้เมื่อคราวบุกเมืองเสี่ยนหยาง ว่ากันว่า ไฟที่ไหม้พระราชวังต้องใช้เวลาร่วมเดือนจึงเผาทำลายพระราชวังจนราบ
วาระสุดท้าย
ปี 210 ก่อนคริสตกาล จิ๋นซีฮ่องเต้ออกตรวจราชการทางภาคใต้ โดยมี หลี่ซื่อ ขันทีเจ้าเกา และพระโอรสองค์เล็ก หูไห่ ตามเสด็จด้วย เดือน 7 ทรงเดินทางมาถึงเมืองซาปิง ทรงประชวรหนัก สั่งให้เจ้าเกาเขียนพระโองราชการเรียกตัวองค์ชายองค์โต ฝูซู ที่ดูแลชายแดนทางเหนือ กลับนครหลวงและสืบราชบัลลังก์ต่อไป ทรงสิ้นพระชนม์ลงเมื่อ เดือน 7 ปีนั้นเองที่เมืองซาปิง (ปัจจุบันอยู่มณฑล เหอเป่ย)
แต่เจ้าเกากลับเก็บพระราชโองการนั้นไว้ และสบคบคิดกับหูไห่ เกลี่ยกล่อมหลี่ซือให้เข้าร่วม ปลอมพระราชโองการให้ ฝูซู และแม่ทัพเหมิงเถียนฆ่าตัวตาย และสถาปนาหูไห่เป็นจักรพรรดิฉินที่ 2 แทน
สิ้นจิ๋นซีฮ่องเต้สิ้นราชวงศ์ฉิน
หูไห่สืบราชบัลลังก์เป็น ฉินเอ้อซื่อ (จักรพรรดิฉินที่ 2) เป็นตนไร้ความสามารถ โฉดเขลา และโหดร้าย ทรงเชื่อเจ้าเกาขันทีชั่ว ประหารโอรส และพระธิดา ของพระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งก็คือพี่น้องของพระองค์ ส่วนเจ้าเกาก็กุมอำนาจในราชสำนัก และครอบงำ ฉินเอ้อซื่อ และกำจัดหลี่ซือ ฉินเอ้อซื่อ ยังคงสั่งการเกณฑ์แรงงานก่อสร้างพระราชวัง และสุสาน ขูดรีดภาษีจากราษฎรต่อไป จนทำให้ประชาชนก่อกบฏขึ้น นำโดยเฉินเซิง และอู๋กว่าง ในปีที่2 ของรัชกาล ฉินเอ้อซื่อ แม้ทางการจะปราบกบฏเฉินเซิง และ อู๋กว่างลงได้ แต่ มีกบฏกลุ่มต่างๆเกิดขึ้นมากมายทั่วแผ่นดิน ที่เข้มแข็งก็มี 2 กลุ่ม นำโดย เซี่ยงอวี้ และ หลิวปัง โดยหลิวปังสามารถนำทัพตีนครหลวงเสี่ยนหยางได้ก่อนในปี 206 ก่อนคริสตกาล พระเจ้าฉินหวางจื่ออิงยอมจำนน ราชวงศฉินจึงถูกโค่นลงในที่สุด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>